โรงเรียนอัสสัมชัญระยองขอเชิญชวนนักเรียนในทุกระดับชั้นร่วมกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากคลื่นยักษ์สึนามิ ทางภาคใต้ ได้ตั้งแต่วันอังคารที่ 4 – วันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2548 โดยกรรมการนักเรียนจะเป็นผู้รับบริจาคที่ห้องเรียน นอกจากนั้นได้มีการจัดบอร์ดแสดงข่าวความเคลื่อนไหวต่างๆด้วย

     
     


ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวคืออะไร
            เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิต และทรัพย์สินของมนุษย์ได้เป็นบริเวณกว้าง เชื่อกันว่าทุกประเทศได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ปัจจุบันพบว่ามีความพยายามอย่างมากในหลายประเทศ ซึ่งได้รับอันตรายจากแผ่นดินไหว ศึกษา และทำความเข้าใจถึงกลไกของการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อการพยากรณ์แผ่นดินไหว และทำนายเหตุการณ์ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อใด? ที่ไหน? ขนาดเท่าใด? แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่มีผู้ใดสามารถ พยากรณ์แผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้อง โดยทั่วไปสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเผชิญภัยแผ่นดินไหว คือการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ละประเทศควรมีมาตรการในการป้องกัน และบรรเทาภัยแผ่นดินไหวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว รอยเลื่อนต่าง ๆ ให้ความรู้ และข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหวต่อประชาชน ให้มีการแบ่งเขตแผ่นดินไหวตามความเหมาะสมของความเสี่ยงภัย ออกกฎหมายให้อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ สามารถรับแรงแผ่นดินไหวตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เสี่ยงภัย มีการวางแผนการจัดการที่ดี หากเกิดความเสียหายร้ายแรงหลังการเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น ในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิประเทศ จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวต่ำ แต่เพื่อความไม่ประมาท กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมมาตรการข้างต้นโดยมีภารกิจในการตรวจวัดแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเป็นประจำ ตลอดจนวางแผนจัดตั้งโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสาธารณชนได้

 


            แผ่นดินไหว เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ เกิดจากการเคลื่อนตัวโดยฉับพลันของเปลือกโลก ส่วนใหญ่ แผ่นดินไหวมักเกิดตรงบริเวณขอบ ของแผ่นเปลือกโลกเป็นแนวแผ่นดินไหวของโลก การเคลื่อนตัวดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากชั้นหินหลอมละลาย ที่อยู่ภายใต้เปลือกโลก ได้รับพลังงานความร้อนจากแกนโลก และลอยตัวผลักดันให้เปลือกโลกตอนบนตลอดเวลา ทำให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่าง ๆ กันพร้อมกับสะสมพลังงานไว้ภายใน บริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกจึงเป็นส่วนที่ชนกันเสียดสีกัน หรือแยกจากกัน หากบริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกใด ๆ ไม่ผ่านหรืออยู่ใกล้กับประเทศใดประเทศนั้น ก็จะมีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวสูง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น นอกจากนั้นพลังที่สะสมในเปลือกโลก ถูกส่งผ่านไปยังเปลือกโลกพื้นของทวีป ตรงบริเวณรอยร้าวของหินใต้พื้นโลกหรือที่เรียกว่า "รอยเลื่อน" เมื่อระนาบ รอยร้าวที่ประกบกันอยู่ได้รับแรงอัดมาก ๆ ก็จะทำ ให้รอยเลื่อนมีการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลันเกิดเป็น แผ่นดินไหวเช่นเดียวกัน

ขนาดและความรุนแรง

            ขนาด (Magnitude) เป็นปริมาณที่มีความสัมพันธ์กับพลังงานที่พื้นโลก ปลดปล่อยออกมาในรูปของการสั่นสะเทือน คำนวณได้จากการตรวจวัดค่าความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่ตรวจวัด ได้ด้วยเครื่องมือตรวจแผ่นดินไหว โดยเป็นค่าปริมาณที่บ่งชี้ขนาด ณ บริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหว มีหน่วยเป็น " ริคเตอร์"
            ความรุนแรงแผ่นดินไหว (Intensity) แสดงถึงความรุนแรงของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น วัด ได้จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเกิด และหลังเกิดแผ่นดินไหว เช่น ความรู้สึกของผู้คน ลักษณะที่วัตถุหรือ อาคารเสียหายหรือสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น ในกรณีของประเทศไทยใช้ มาตราเมอร์แคลลี่ สำหรับเปรียบเทียบอันดับ ซึ่งมีทั้งหมด 12 อันดับ เรียงลำดับความรุนแรงแผ่นดินไหวจากน้อยไปมาก
มาตราริคเตอร์



ขนาด ความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้ศูนย์กลาง

1-2.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนเริ่มมีความรู้สึกถึงการสั่นไหว บางครั้ง รู้สึกเวียน ศีรษะ
3-3.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนรถไฟวิ่งผ่าน
4-4.9 เกิดการสั่นไหวปานกลาง ผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งภายในอาคาร และนอกอาคาร รู้สึกถึงการ สั่นสะเทือน วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว
5-5.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือน และวัตถุมีการเคลื่อนที่
6-6.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย
7.0 ขึ้นไป เกิดการสั่นไหวร้ายแรง อาคาร สิ่งก่อสร้างมีความเสียหายอย่างมาก แผ่นดินแยก วัตถุที่อยู่บนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น

สึนามิเกิดขึ้นที่ใดบ้าง

            โลกของเรานี้มีส่วนที่เป็นแผ่นดินอยู่เพียงร้อยละ 29 หรือเกือบ 1 ใน 3 ของโลก ส่วนร้อยละ 71 ที่เหลือนั้นปกคลุมด้วยน้ำซึ่งประกอบด้วย 5 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดีย แอตแลนติก แปซิฟิก อาร์กติก และแอนตาร์กติก โดยเฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิกเพียงแห่งเดียวก็กินเนื้อที่ไปถึง 1 ใน 3 ของโลกแล้ว
สาเหตุของการเกิดสึนามิส่วนใหญ่มักเกิดจากแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวในมหาสมุทรหรือแผ่นดินไหวบนแผ่นดินใกล้มหาสมุทรก็ตาม ส่วนสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินถล่ม ภูเขาไฟระเบิด หรือจากวัตถุนอกโลกตกใส่นั้นพบค่อนข้างน้อย และมหาสมุทรที่เกิดสึนามิมากกว่าเพื่อนก็คือมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งนี้ เพราะมหาสมุทรแปซิฟิกตามแนวขอบทวีปนั้นเป็นแนวที่เปลือกโลกเปราะบาง เกิดแผ่นดินไหวได้ง่าย เราเรียกแนวแผ่นดินไหวรอบมหาสมุทรแปซิฟิกนี้ว่า วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) และเมื่อแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งก็ย่อมเกิดสึนามิมากกว่าบริเวณอื่นๆของโลก
            สึนามิยังแบ่งออกไปเป็น 2 ประเภทตามรูปแบบของการแผ่กระจายคลื่นยักษ์ นั่นคือ สึนามิแบบเฉพาะบริเวณอันหมายถึงสึนามิที่เกิดขึ้นและเดินทางไปไม่ไกลนัก (ไม่ไกลนักในที่นี้อาจเป็นร้อยกิโลเมตรก็ได้) กับอีกแบบหนึ่งคือสึนามิแบบข้ามมหาสมุทร สึนามิแบบนี้มีพลังงานสูงมาก สามารถเดินทางข้ามไปถึงยังอีกฝั่งของมหาสมุทรได้ สึนามิแบบข้ามมหาสมุทรครั้งล่าสุดนั้นเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว นั่นคือ สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวใกล้ประเทศชิลีเมื่อปี ค.ศ. 1960 สึนามิที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นสามารถเดินทางไปถล่มเกาะฮาวายซึ่งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นยังเลยต่อไปถล่มเกาะญี่ปุ่นซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของมหาสมุทรห่างไปถึง 17,000 กิโลเมตรได้ สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก

สึนามิมีความรุนแรงเพียงใด

            เมื่อสึนามิเดินทางอยู่ในมหาสมุทรจะมีลักษณะเป็นคลื่นใต้น้ำ แม้จะมีความเร็วสูงและพลังอันมหาศาล แต่เมื่อสังเกตที่ผิวน้ำแล้วจะแทบไม่เห็นความผิดปกติใดๆเลย เพราะจะเป็นเพียงระลอกสูงราว 30 เซนติเมตรถึง 1 เมตรเท่านั้น ส่วนเรือที่อยู่ในเส้นทางที่สึนามิเดินทางผ่านนั้นจะรับรู้ถึงพลังของสึนามิได้โดยจะรู้สึกว่าเรือโคลงเคลงอย่างแรง ตามมาด้วยเสียงดังกึกก้องเหมือนเสียงฟ้าผ่า ซึ่งชาวเรือทั่วไปเมื่อประสบเหตุการณ์เช่นนี้มักจะนึกว่าเรือชนหินโสโครกมากกว่าที่จะคิดถึงสึนามิ

สึนามิเกิดขึ้นได้อย่างไร

            สึนามิและคลื่นตามชายฝั่งธรรมดานั้นมีกำเนิดที่แตกต่างกัน คลื่นโดยทั่วไปเกิดจากกระแสน้ำขึ้นน้ำลงและกระแสลม แต่สึนามินั้นเกิดจากการแทนที่น้ำอย่างรุนแรง ทำให้มวลของน้ำเกิดการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง
ลองนึกเปรียบเทียบกับการที่เราโยนก้อนหินลงในน้ำ หากเราโยนหินก้อนเล็กๆ เราจะสังเกตเห็นว่าผิวน้ำเกิดเป็นระลอกแผ่ออกไปจากจุดที่ก้อนหินตกลงน้ำ ยิ่งหินก้อนใหญ่เท่าไร ระลอกที่เกิดก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้เพราะเมื่อหินตกลงในน้ำจะเกิดการแทนที่น้ำ และพลังงานที่ก้อนหินตกใส่น้ำก็จะถูกถ่ายเทจากก้อนหินไปสู่น้ำ ทำให้มวลของน้ำเกิดการเคลื่อนที่ ทำให้เราเห็นเป็นระลอกคลื่น หินก้อนยิ่งใหญ่ พลังงานที่ถ่ายเทให้แก่น้ำก็ยิ่งมาก ระลอกที่เกิดจึงมีขนาดใหญ่และแผ่ออกไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น
ในทำนองเดียวกัน ในธรรมชาติสามารถเกิดปรากฏการณ์แทนที่น้ำได้ ยกตัวอย่างเช่นการเกิดภูเขาไฟระเบิดในทะเล การเกิดแผ่นดินไหวหรือแผ่นดินถล่มในทะเล การเกิดแผ่นดินไหวบนแผ่นดินใกล้ชายฝั่ง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เกิดการแทนที่น้ำอย่างรุนแรงได้ทั้งสิ้น และนอกจากปรากฏการณ์ธรรมชาติในโลกเหล่านี้แล้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติจากนอกโลกอันได้แก่การที่อุกาบาตหรือดาวหางตกลงในมหาสมุทรก็ทำให้เกิดการแทนที่น้ำอย่างรุนแรงได้เช่นกัน ผลจากปรากฏการณ์เหล่านี้จะเกิดการถ่ายเทพลังงานให้แก่น้ำ และมวลของน้ำก็จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงแผ่กระจายออกจากจุดที่น้ำถูกแทนที่ ทำให้เกิดเป็นสึนามิขึ้น

สึนามิแตกต่างจากคลื่นธรรมดาอย่างไร

           เมื่อสึนามิมีกำเนิดที่แตกต่างจากคลื่นชายฝั่งโดยทั่วไป ดังนั้นคลื่นเพชฌฆาตนี้จึงมีลักษณะเฉพาะหลายอย่างที่แตกต่างไปจากคลื่นชายฝั่งนอกเหนือไปจากขนาดอันมหึมาของคลื่น ความแตกต่างที่สำคัญประการแรกก็คือความยาวคลื่น คลื่นทั่วๆไปนั้นจะมีระยะห่างระหว่างคลื่นแต่ละลูกเพียงไม่กี่เมตร อาจเป็น 10 เมตรหรือไปจนถึง 100 เมตร หรือ 150 เมตร ซึ่งระยะระหว่างคลื่น 2 ลูกนี้เราเรียกว่า ความยาวคลื่น หรือ ช่วงคลื่น แต่สำหรับสึนามิแล้วระยะห่างระหว่างคลื่นแต่ละลูกจะห่างกันถึงกว่า 100 กิโลเมตรเลยทีเดียว
           นอกจากนี้สึนามิยังมีความเร็วอย่างที่คาดไม่ถึง หรือเรียกได้ว่าเร็วอย่างเหลือเชื่อ ความเร็วของสึนามิจะแปรผันไปตามความลึกของมหาสมุทร หากมหาสมุทรยิ่งลึก ความเร็วของสึนามิก็ยิ่งสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่นสึนามิที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งมีความลึกประมาณ 4,000 เมตร (4 กิโลเมตร) จะมีความเร็วประมาณ 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วนี้พอๆกับเครื่องบินไอพ่นเลยทีเดียว

แหล่งอ้างอิง ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมมเด็ก,2541.
ศิริวรรณ คุ้มโห้. วันและประเพณีสำคัญ. กรุงเทพฯ

 

 

โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง : 131 หมู่ 2 ถ.สุขุมวิท ต.เนินพระ อ.เมือง 21000      Tel : (038) 808991-2     Fax : (038) 614706